
TBS จัดงานประชุมวิชาการ ‘ถอดรหัสอนาคต Digital Assets: รุ่งโรจน์ หรือ ร่วงโรย?’
TBS จัดงานประชุมวิชาการ ‘ถอดรหัสอนาคต Digital Assets: รุ่งโรจน์ หรือ ร่วงโรย?’
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat Business School: TBS) จัดงานประชุมวิชาการ ‘ศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ด้านตลาดการเงินไทย’ ครั้งที่ 27 ประจำปี 2565 ในหัวข้อหลัก ‘ถอดรหัสอนาคต Digital Assets: รุ่งโรจน์ หรือ ร่วงโรย?’
โดยได้รับเกียรติจากคุณแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ‘Thai Digital Assets Exchange’ ว่า สำหรับสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ถือเป็นเรื่องใหม่ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
แม้จะเกิดมาได้ไม่กี่ปี และเพิ่งได้รับความนิยมในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น แต่พบว่ามูลค่าตามราคาตลาด (Market Cap) ในช่วงที่พีกกลับเติบโตถึง 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 109 ล้านล้านบาท)
ขณะที่ปัจจุบัน แม้การซื้อขายจะลดลงมากกว่า 70% แต่ Market Cap ของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลก็ยังค่อนข้างสูงที่ 9.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 34 ล้านล้านบาท)
ถือเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดสินทรัพย์การลงทุนแบบเดิม อาทิ ตลาดหลักทรัพย์และตลาดตราสารหนี้ที่ให้บริการมามากกว่า 100 ปี ปัจจุบันมี Market Cap รวมกันทั่วโลกอยู่ที่ 92 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3,300 ล้านล้านบาท) และ 119 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4,300 ล้านล้านบาท) ตามลำดับ
แม้ความหมายของสินทรัพย์ดิจิทัลจะค่อนข้างกว้าง แต่หลายคนยังรู้จักสินทรัพย์ดิจิทัลในฐานะที่เป็นสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) เท่านั้น เช่น บิตคอยน์ (Bitcoin) และอีเธอเรียม (Ethereum) ที่ครองสัดส่วนการซื้อขายหลักในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม มุมมองของตลาดทุนที่มีต่อสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ใช่แค่คริปโตเคอร์เรนซีเท่านั้น แต่มองถึงโอกาสในส่วนที่เหลือ คือ โทเคนดิจิทัล (Digital Token) ซึ่งประกอบไปด้วยโทเคนเพื่อการลงทุน (Investment Token) โทเคนที่มีสินทรัพย์หนุนหลัง (Asset-backed Token) และโทเคนที่มีลักษณะคล้ายหลักทรัพย์ (Security Token)
นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอผลงานวิจัยจากนักวิชาการทั้งจากภายในและภายนอกคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อแสดงความก้าวหน้าทางวิชาการด้านตลาดการเงินของประเทศไทย
อีกทั้งมีการบรรยายกลุ่มสาระจากวิทยากรจากคณะพาณิชย์ฯ และจากภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารแห่งประเทศไทย, สมาคมฟินเทคประเทศไทย, สำนักงาน ก.ล.ต., ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บัวหลวง จำกัด, บริษัท แอดวานซ์ เอ็มเปย์ จำกัด และ Deloitte Thailand
โดยการบรรยายในกลุ่มสาระแบ่งเป็น 3 หัวข้อหลัก ได้แก่ กลุ่ม FinTech, กลุ่ม Current Issues in Investments และกลุ่มบัญชีและการเงิน
ติดตามข่าวเกี่ยวกับธุรกิจเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ปิดดีล! กสทช. เคาะควบรวม “True-DTAC” แบบมีเงื่อนไข